เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 4.เนมิราชชาดก (541)
ให้เป็นไปตามอำนาจ ขอเชิญพระองค์ประทับอยู่ในหมู่เทพเจ้า
ผู้ประกอบด้วยความสำเร็จแห่งทิพยกามารมณ์ทั้งปวง
ขอเชิญพระองค์ทรงเสวยกามทั้งหลาย
ที่มิใช่ของมนุษย์อยู่ในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์เถิด พระเจ้าข้า
(พระเจ้าเนมิถูกท้าวเทวราชเชื้อเชิญด้วยกามทิพย์และให้ประทับนั่ง เมื่อจะ
ทรงปฏิเสธ จึงตรัสว่า)
[585] ยานที่ขอยืมเขามา ทรัพย์ที่ขอยืมเขามาสำเร็จประโยชน์ฉันใด
ของที่บุคคลอื่นให้ก็สำเร็จประโยชน์ฉันนั้นเหมือนกัน
[586] หม่อมฉันมิได้ประสงค์สิ่งที่ผู้อื่นให้
บุญทั้งหลายที่ตนได้ทำไว้เอง
เป็นทรัพย์ของหม่อมฉันแผนกหนึ่งต่างหาก
[587] หม่อมฉันนั้นจักกลับไปทำบุญให้มากขึ้นในหมู่มนุษย์
ด้วยการบริจาคทาน การประพฤติสม่ำเสมอ
ความสำรวม และความฝึกอินทรีย์ที่บุคคลทำแล้ว
จะได้รับความสุขและไม่เดือดร้อนใจในภายหลัง
(พระเจ้าเนมิโพธิสัตว์เมื่อจะตรัสยกย่องคุณของมาตลีเทพสารถี จึงตรัสว่า)
[588] ท่านมาตลีเทพสารถีได้แสดงสถานที่อยู่ของทวยเทพ
ผู้มีกรรมดี และสถานที่อยู่ของเหล่าสัตว์นรกผู้มีกรรมชั่ว
ชื่อว่าเป็นผู้มีอุปการะมากแก่เรา
(พระศาสดาเมื่อจะตรัสการที่พระเจ้าเนมิโพธิสัตว์บวชแล้วให้แจ้งชัด จึงตรัส
พระคาถาสุดท้ายว่า)
[589] พระเจ้าเนมิแห่งชนชาวแคว้นวิเทหะทรงปกครองกรุงมิถิลา
ครั้นได้ตรัสพระคาถานี้แล้วทรงบูชายัญเป็นอันมากแล้ว
จึงทรงเข้าถึงความสำรวม
เนมิราชชาดกที่ 4 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :273 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 5.มโหสธชาดก (542)
5. มโหสธชาดก1 (542)
ว่าด้วยพระมโหสธบัณฑิตทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี
(พระเจ้าวิเทหะทอดพระเนตรเห็นมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์เข้ามาเฝ้า ก็สบาย
พระทัย เมื่อจะรับสั่งกับมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ จึงตรัสว่า)
[590] พ่อมโหสธ พระเจ้าพรหมทัตผู้ครองแคว้นปัญจาละ
เสด็จยาตราทัพมาพร้อมด้วยกองทัพทุกหมู่เหล่า
กองทัพของพระเจ้าปัญจาละนั้นประมาณไม่ได้
[591] มีกองช่างโยธา กองราบ
ล้วนแต่ฉลาดในสงครามทุกอย่าง มีเสียงอึกทึกกึกก้อง
เป็นสัญญาให้กันและกันรู้ได้ด้วยเสียงกลองและเสียงสังข์
[592] มีความรู้ในการใช้โลหธาตุ มีเครื่องประดับครบครัน
มีธงทิวสลอน ช้างและม้า สมบูรณ์ดีด้วยผู้เชี่ยวชาญศิลป์
ตั้งมั่นด้วยเหล่าทหารผู้แกล้วกล้า
[593] กล่าวกันว่า ในกองทัพนี้ มีบัณฑิต 10 คน
มีปัญญาเพียงดังแผ่นดิน มีการประชุมปรึกษากันในที่ลับ
พระมารดาของพระเจ้าปัญจาละเป็นองค์ที่ 11
ช่วยปกครองสั่งสอนชาวแคว้นปัญจาละ
[594] อนึ่ง ในบรรดาชนเหล่านี้
กษัตริย์ 101 พระนครผู้เรืองยศตามเสด็จพระเจ้าปัญจาละ
ถูกชิงแคว้น กลัวภัย
จึงตกอยู่ในอำนาจของชาวแคว้นปัญจาละ

เชิงอรรถ :
1 พระศาสดาเมื่อประทับ ณ พระเชตวัน ทรงปรารภปัญญาบารมีของพระองค์ ตรัสมโหสธชาดกซึ่ง
มีคำเริ่มต้นว่า พระเจ้าพรหมทัตผู้ครองแคว้นปัญจาละเสด็จยาตราทัพมาพร้อมด้วยกองทัพทุกหมู่เหล่า
เป็นต้น (ขุ.ชา.อ. 9/209) (ต้นเรื่องมโหสธชาดกมีปรากฏในชาดกภาค 1 คือ พระไตรปิฎกเล่มที่ 27
ถึง 11 ตอน มีสัพพสังหารกปัญหชาดก เป็นต้น)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :274 }